ประวัติ ของ กองบิน 3 วัฒนานคร

ช่วงเริ่มต้น

กองบิน 3 กองทัพอากาศ มีจุดเริ่มต้นมาจากการยกฐานะกองบินทหารบก ขึ้นเป็นกรมอากาศยานทหารบก เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2461[3] และแบ่งส่วนราชการภายในออกเป็นดังนี้[2]

  • กองบินทหารบก แบ่งออกเป็น กองบินใหญ่ทหารบก 3 กองบิน ตั้งอยู่ที่ดอนเมือง คือ
    • กองบินใหญ่ทหารบกที่ 1 (ประจำการเครื่องบินขับไล่)
    • กองบินใหญ่ทหารบกที่ 2 (ประจำการเครื่องบินตรวจการณ์)
    • กองบินใหญ่ทหารบกที่ 3 (ประจำการเครื่องบินทิ้งระเบิด)
  • โรงเรียนการบินทหารบก
  • โรงงานของกรมอากาศยานทหารบก

ต่อมาในปี พ.ศ. 2463 กองบินใหญ่ทหารบกที่ 3 มีความจำเป็นต้องหาที่ตั้งใหม่เนื่องจากขนาดและภารกิจของกองบินทั้งในด้านยุทธศาสตร์และยุทธวิธี โดยเลือกที่ตั้งที่ ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา และในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2464 เปลี่ยนชื่อจาก กองบินใหญ่ทหารบกที่ 3 เป็น กองบินใหญ่ที่ 3 จากนั้นเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2469 ได้เปลี่ยนอัตราการจัดใหม่ เปลี่ยนชื่อเป็น กองบินน้อยที่ 2 อยู่ในที่ตั้งเดิมจังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วยอัตรากำลัง 3 ฝูงบิน มีพันตรีหลวงเทวัญอำนวยเดช เป็นผู้บังคับกองบิน[2]

จากนั้น พ.ศ. 2478 กรมอากาศยานทหารบกได้ยกฐานะขึ้นเป็น กรมทหารอากาศ ขณะที่กองบินน้อยที่ 2 ได้เปลี่ยนเป็น กองบินน้อยที่ 3 โดยมีนายร้อยเอกหลวงอิศรางกรูเสนีย์ (หมอมหลวงแช่ม อิศรางกรู ณ อยุธยา) ดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองบินจนถึงปี พ.ศ. 2484 กระทั่งกรมทหารอากาศได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น กองทัพอากาศเมื่อปี พ.ศ. 2480 และแยกตัวออกมาจากกองทัพบก ทำให้จำเป็นต้องหาที่ตั้งของกองบินใหม่ เนื่องจากพื้นที่เดิมเป็นของกองทัพบก ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาจึงได้มีการสร้างฐานบินของกองทัพอากาศขึ้นใหม่ที่ตำบลทุ่งกุดทอง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา[2]

ระหว่างปี พ.ศ. 2483 - 2484 ได้เกิดกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส กองบินน้อยที่ 3 ได้สนับสนุนกำลังจำนวน 1 ฝูงบินไปประจำการที่สนามบินจังหวัดปราจีนบุรี และสนามบินจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อสนับสนุนการราบของกองทัพภาคบูรพา และปฏิบัติการจนได้รับเครื่องหมายเชิดชูเกียรติสายโยงยศไหมสีเขียว[2]

ระหว่างปี พ.ศ. 2484 - 2488 ได้เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา โรงเรียนการบินได้ย้ายที่ตั้งจากดอนเมืองไปรวมกับที่ตั้งของกองบินน้อยที่ 3 แต่ยังคงแยกสายการบังคับบัญชา และกองบินน้อยที่ 3 ได้ส่งกำลังไปร่วมกับฝูงบินผสมหลายแห่ง ปฏิบัติการจนกระทั้งสิ้นสุดสงครามจึงได้กลับมายังที่ตั้ง และในปี พ.ศ. 2492 กองทัพอากาศได้โอนกิจการภายในหน่วยของกองบินน้อยที่ 3 ให้กับโรงเรียนการบินทั้งหมด[4] ทำให้กองบินน้อยที่ 3 ไม่เหลืออัตรากำลัง เหลือเพียงโครงสร้าง[2]

ช่วงที่ 2

เฮลิคอปเตอร์แบบที่ 5 ที่เคยประจำการในกองบิน 3 ช่วงปี พ.ศ. 2510-2520

กองบินน้อยที่ 3 ถูกจัดอัตราขึ้นมาอีกครั้งในชื่อกองบิน 3 ในปี พ.ศ. 2510[5] โดยการโอนอัตราอากาศยานและเจ้าหน้าที่ รวมถึงเฮลิคอปเตอร์จากกองบิน 6 ฝูงบิน 63 มาตั้งเป็นขึ้นเป็น กองบิน 3 ฝูงบิน 31 และฝูงบิน 33 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2510[2]

ต่อมา พ.ศ. 2512 กองทัพอากาศได้สั่งการให้กองบิน 3 ย้ายจากดอนเมืองไปยังที่ตั้งปกติ ณ ฐานบินนครราชสีมาเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2512 และมีคำสั่งให้ฝูงบิน 33 ยุบรวมกับฝูงบิน 31 และปลดประจำการเฮลิคอปเตอร์แบบที่ 5 เอช-43 บี ฮัสกี ให้เหลือเพียง 2 ฝูงบินคือฝูงบิน 31 ประจำการเฮลิคอปเตอร์แบบที่ 4 จำนวน 1 ฝูง และฝูงบิน 32 ประจำการเฮลิคอปเตอร์แบบที่ 6 จำนวน 1 ฝูง[2]

กองบิน 3 ถูกยุบเลิกการปฏิบัติการในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2520[6][7] และโอนฝูงบิน 31 และ 32 ไปประจำการที่กองบิน 2 [2]

ยุคปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. 2563 กองทัพอากาศได้ปรับปรุงอัตรากำลังของกองทัพอากาศเพื่อจัดตั้งกองบิน 3 ขึ้นมาอีกครั้ง[8]เพื่อรองรับภารกิจที่เพิ่มมากขึ้น โดยมีภารกิจหน้าที่ในการใช้กำลังทางอากาศ มีผู้บังคับการกองบิน 3 เป็นผู้บังคับบัญชา[2]

ใกล้เคียง

กองบินตำรวจ กองบิน 3 วัฒนานคร กองบิน 2 ลพบุรี กองบินปฏิบัติการพิเศษที่ 710 กองบิน 1 นครราชสีมา กองการบินทหารเรือ กองการบินทหารบกมหาจักรวรรดิญี่ปุ่น กองการบินทหารเรือมหาจักรวรรดิญี่ปุ่น

แหล่งที่มา

WikiPedia: กองบิน 3 วัฒนานคร https://ndsi.rtarf.mi.th/ndsi-info/rtaf.pdf https://web.archive.org/web/20220810103126/https:/... https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_811... https://www.khaosod.co.th/pr-news/news_7902368#goo... https://www.khaosod.co.th/pr-news/news_7547849 https://www.nationtv.tv/politic/378928901 https://thaiarmedforce.com/2021/12/30/rtaf-u1-in-t... https://thaiarmedforce.com/2021/10/09/wing-3-rtaf-... https://asitimes.wordpress.com/2013/01/03/uav-in-r... https://www.bangkokbiznews.com/news/1073818